12 กิจกรรม:กิจกรรมที่ 1 การทบทวนขณะดูแลผู้ป่วย


กิจกรรมที่ 1 การทบทวนขณะดูแลผู้ป่วย
วัตถุประสงค์ของการทบทวน
1.       ผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนได้รับการดูแลอย่างเป็นองค์รวม
2.       ทีมงานได้เรียนรู้จากของจริง ใช้เวลาทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพโดยอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย ปฏิบัติจนเป็นปกติประจำวัน  สมาชิกมีความไวต่อการรับรู้ปัญหา
หัวหน้าพาทบทวนคุณภาพ
วัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกมีทักษะในการทบทวนหาโอกาสพัฒนาและกำหนดแนวทางการพัฒนา ในผู้ป่วยที่กำลังนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
กลุ่มสมาชิกทีมดูแลผู้ป่วยจากหน่วยงานและวิชาชีพต่างๆ หรือในหอผู้ป่วยเดียวกัน
เวลา: 30 นาที
กิจกรรม
          ให้สมาชิกเข้าไปที่หอผู้ป่วย คัดเลือกผู้ป่วยที่มีความซับซ้อนหรือน่าสนใจมารายหนึ่ง  แล้วใช้สูตร C3THER ทบทวนหาโอกาสพัฒนา และแนวทางการปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยที่สามารถทำได้ทันทีสำหรับผู้ป่วยรายนั้น หัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้าทีมจะเป็นผู้ตั้งคำถามในประเด็นเหล่านี้ ให้สมาชิกที่มาร่วมทบทวนและผู้รับผิดชอบผู้ป่วยช่วยกันตอบ

หัวใจสำคัญ
คำถาม
Careผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมหรือไม่ ตั้งแต่การประเมิน การวินิจฉัย การรักษาพยาบาล และป้องกันความเสี่ยง
การดูแลอย่างเต็มความสามารถด้วยความระมัดระวัง
·        มีโอกาสเกิดความเสี่ยงอะไรกับผู้ป่วยรายนี้
·        เราได้ป้องกันความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างดีแล้วหรือไม่
·        เราได้ประเมินผู้ป่วยอย่างรอบด้านแล้วหรือไม่
·        เรานำข้อมูลจากการประเมินมาวางแผนแก้ปัญหาอย่างครบถ้วนหรือไม่
·        เราเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และตอบสนองอย่างเหมาะสมหรือไม่
Communication ผู้ป่วยและญาติได้รับข้อมูลที่จำเป็น และเป็นที่เข้าใจหรือไม่
การสื่อสารข้อมูลที่จำเป็น
·        (ถามทีมมีข้อมูลอะไรที่ผู้ป่วยและครอบครัวควรจะรับรู้ในขณะนี้ (เช่น ความเข้าใจในโรคที่ตนเองเป็นอยู่ ทางเลือกในการดูแลรักษา วิธีการปฏิบัติตัวที่เราคาดหวัง)
·        (ถามผู้ป่วยและครอบครัวได้รับข้อมูลอะไรบ้าง มีข้อมูลอะไรที่ต้องการทราบเพิ่มเติม
·        (ถามทีมมีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ทีมคาดหวังกับสิ่งที่ผู้ป่วยได้รับหรือไม่ ถ้ามีจะปรับปรุงอย่างไร
Continuity ผู้ป่วยและญาติได้รับการเตรียมตัวเพื่อการดูแลที่ต่อเนื่องเมื่อกลับบ้านหรือไม่
ความต่อเนื่องของการดูแลรักษาทั้งใน รพ.และเมื่อกลับไปบ้าน
·        ปัญหาสำคัญที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางคืนมีอะไรบ้าง ทีมงานมีการส่งต่อปัญหาระหว่างให้แก่เวรต่อไปอย่างไร
·        ปัญหาสำคัญที่ผู้ป่วยและครอบครัวต้องเผชิญเมื่อกลับไปอยู่บ้านคืออะไร  เราได้เตรียมผู้ป่วยและครอบครัวให้พร้อมที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร
Team  มีการนำสหสาขาวิชาชีพอื่นเข้าร่วมดูแลหรือไม่
ความร่วมมือระหว่างวิชาชีพ
·        ถ้าจะดูแลผู้ป่วยรายนี้ให้ดีที่สุด มีวิชาชีพใดบ้างที่ควรเข้ามาร่วมให้การดูแลนอกเหนือจากแพทย์และพยาบาล (เช่น นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักโภชนาการ)
·        เราได้เชิญวิชาชีพเหล่านั้นเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยรายนี้แล้วหรือยัง
Human Resource  ทีมงานมีความรู้และทักษะเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยรายนี้อย่างมีคุณภาพหรือไม่
ความรู้และทักษะของทีมงานที่เพียงพอ
·        ความรู้และทักษะของทีมงานของเราเพียงพอสำหรับดูแลผู้ป่วยรายนี้อย่างมีคุณภาพหรือไม่  ยังขาดเรื่องอะไรอยู่
·        ทำอย่างไรจะให้เกิดความรู้และทักษะเหล่านั้นขึ้นได้เร็วที่สุด
Environment ผู้ป่วยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม   ปลอดภัย สะดวก สบายหรือไม่ & Equipment   มีเครื่องมือที่จำเป็นและพร้อมใช้งานในผู้ป่วยรายนี้หรือไม่
สิ่งแวดล้อมและเครื่องมือที่ดีและพอเพียง
·        ผู้ป่วยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะดวก สบาย ปลอดภัย หรือไม่
·        มีเครื่องมืออะไรที่จำเป็นสำหรับการดูแลผู้ป่วยรายนี้  เครื่องมือเหล่านั้นเพียงพอและพร้อมที่จะใช้หรือไม่
Record   บันทึกเวชระเบียนของผู้ป่วยรายนี้ สมบูรณ์หรือไม่
ความสมบูรณ์ของการบันทึก
·        เวชระเบียนของผู้ป่วยรายนี้ได้รับการบันทึกอย่างสมบูรณ์เพียงพอที่จะให้ผู้อื่นมาดูแลอย่างต่อเนื่องเข้าใจเหตุผลของการตัดสินใจประเมินคุณภาพของการดูแลและใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายได้หรือไม่

สรุปประเด็นและวางแผนต่อ

          หัวหน้าสรุปประเด็นว่าการทบทวนขณะผู้ป่วยอยู่โรงพยาบาล จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาและปรับปรุงในทันที  ซึ่งสามารถนำมากำหนดระบบหรือวางแผนดูแลผู้ป่วยล่วงหน้าได้ และขอให้สมาชิกช่วยกันพิจารณาว่าจะทำกิจกรรมทบทวนลักษณะนี้ให้บ่อยที่สุดได้อย่างไร เพื่อให้ฝังจนเป็นการทำงานปกติประจำ (คือผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการทบทวนในระหว่างการดูแลโดยอัตโนมัติอยู่ตลอดเวลา)

ปฏิบัติเป็นกิจกรรมปกติประจำ

1) การทบทวน

·      แพทย์และพยาบาลแต่ละคนควรฝึกทบทวนตามแนวทาง C3THER ให้บ่อยที่สุดเมื่อมีเวลาว่าง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ราย (ทบทวนโดยอิสระของแต่ละคน)
·      แพทย์และพยาบาลควรทบทวนตามแนวทาง C3THER ร่วมกันไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละครั้ง
·      ควรมีการทบทวนในลักษณะสหสาขาวิชาชีพไม่น้อยกว่าเดือนละครั้ง

2) การปรับปรุง

·      ทำทันทีเมื่อพบว่ามีช่องโหว่ในการดูแลผู้ป่วย

3) การบันทึก

·      บันทึกโอกาสพัฒนาที่พบและการปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยที่ได้ทำในเวชระเบียนผู้ป่วย
สำหรับกรณีที่น่าสนใจ อาจบันทึกย่อบทเรียนที่เกิดขึ้นในสมุดบันทึกการเรียนรู้ เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา (ไม่ต้องระบุชื่อหรือ ID ของผู้ป่วย และไม่ต้องบันทึกรายละเอียดที่ไม่จำเป็น)

ความคิดเห็น