12 กิจกรรม:กิจกรรมที่ 3 การทบทวนการส่งต่อ/ขอย้าย/ปฏิเสธการรักษา

กิจกรรมที่ 3 การทบทวนการส่งต่อ/ขอย้าย/ปฏิเสธการรักษา

วัตถุประสงค์ของการทบทวน

          เพื่อประเมินศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาล รวมทั้งความเหมาะสมในการดูแลก่อนที่จะมีการส่งต่อ

กรณีศึกษา

          1. รพ.ชุมชนแห่งหนึ่งทบทวนการส่งต่อผู้ป่วยในช่วงเวลา 3 เดือนว่ามีการส่งต่อผู้ป่วย 724 ราย  เป็นเพราะเกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล 593 ราย หรือคิดเป็น 81.9% และสรุปปัญหาว่าเป็นเพราะขาดแพทย์เฉพาะทาง ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไข  ขณะเดียวกันรพ.ศูนย์ได้สะท้อนปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยจาก รพ.ชุมชนแห่งหนึ่งว่ามีปัญหา 3 ประการในผู้ป่วย 2 ราย ได้แก่ IV clot, ET tube เข้า esophagus, ET tube หลุดขณะเคลื่อนย้าย
          2. ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือดสด เคยมีประวัติปวดท้องเป็นประจำ กินยาโรคข้อเพราะเข่าเสื่อม  ER สรุปว่า hypo-volumic shock due to GI bleeding ได้ให้ยา cymetidine  resuscitate อยู่ที่ รพ.ชุมชนจนอาการดีขึ้น  แต่ 2 วันต่อมามี bleed ซ้ำและผู้ป่วยเสียชีวิต
          3. ผู้ป่วยได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาลชุมชนพร้อมคำวินิจฉัยว่า r/o sepsis with CRF  พยาบาลบันทึกว่าอ่อนเพลีย ซึม อาจเกิด tissue พร่องออกซิเจน  อาจเกิดภาวะติดเชื้อ  แพทย์มาดูในวันรุ่งขึ้นและย้ายเข้า ICU  วินิจฉัยว่า acute MI with pneumonia
          4. ผู้ป่วย CVA หยุดหายใจที่ ER ของ รพ.ชุมชน ได้ใส่ ET tube แล้วส่งต่อ รพ.จังหวัด  ระหว่างทาง ออกซิเจนในรถพยาบาลหมด
          5. ทารกคลอดที่ รพ.ชุมชนด้วยการทำ VE เนื่องจาก FHS เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเป็น 156  เด็กคลอดปกติ  APGAR 10  แต่สังเกตว่า cord เป็นปมยุ่ย เอายางรัดไม่อยู่ ถึงกับขอถ่ายรูปสายสะดือไว้ วันแรกสังเกตว่าหน้าเหลือง ดูดแต่นมข้างขวา ถ้าให้ดูดข้างซ้ายจะร้อง  ให้อยู่ รพ. 48 ชม.ก็ให้กลับบ้าน  พอวันที่สามไปเยี่ยมบ้านพบว่าเด็กซึมและเหลืองมาก r/o sepsis จึงรับมา รพ.และส่งต่อไป รพ.จังหวัดและ รพ.มหาวิทยาลัย ตามลำดับ
          แพทย์ที่ รพ.จังหวัดบอกกับญาติว่าผู้ป่วยติดเชื้อ สงสัยจะมีปัญหาที่สมองจากเลือดออกในสมอง  แพทย์ที่ รพ.มหาวิทยาลัยบอกว่าเด็กติดเชื้อจากสะดือ และมีบาดเจ็บจากการคลอด  มีการติดเชื้อที่ศีรษะ ต้องดูดหนองออก  และต่อมามีปัญหาหัวโต ต้องทำ VP shunt  ญาติยืนยันว่าเป็นความผิดปกติจากการคลอดของ รพ.ชุมชน จากบันทึกของ รพ.ชุมชนไม่ปรากฏว่ามีบันทึกการบาดเจ็บจากการคลอด

หัวหน้าพาทบทวนคุณภาพ

วัตถุประสงค์: เพื่อให้สมาชิกมีทักษะในการทบทวนการส่งต่อ/ข้อย้าย/ปฏิเสธการรักษา เพื่อวางแนวทางปรับปรุงและป้องกันอย่างเหมาะสม
กลุ่ม: สมาชิกทีมดูแลผู้ป่วยจากหน่วยงานและวิชาชีพต่างๆ หรือในหอผู้ป่วยเดียวกัน
เวลา: 30 นาที

กิจกรรม

          1. การเตรียมการ  ให้หัวหน้าหน่วยงานหรือหัวหน้าทีมมอบหมายให้สมาชิกจำนวนหนึ่งไปรวบรวมกรณีที่มีการส่งต่อ การขอย้าย หรือการปฏิเสธการรักษาในรอบ 3-6 เดือนที่ผ่านมา  คัดเลือกกรณีที่เหมาะสมในการเรียนรู้มานำเสนอในที่ประชุม
          2. ให้สมาชิกพิจารณาในประเด็นต่อไปนี้
  • เหตุผลของการส่งต่อ/ขอย้าย/ปฏิเสธการรักษา คืออะไร
  • ผู้รับบริการไม่พึงพอใจ
  • ผู้รับบริการไม่ไว้วางใจ
  • เกินขีดความสามารถของ รพ.
  • ไม่พร้อมที่จะให้การดูแลในขณะนั้น
  • การดูแลก่อนส่งต่อเป็นไปอย่างมีคุณภาพหรือไม่
  • ผลลัพธ์ของการดูแลผู้ป่วยรายนี้เป็นอย่างไร  มีการติดตามหรือมีข้อมูลกลับมาบ้างหรือไม่
  • จากเหตุผลของการส่งต่อ/ขอย้าย/ปฏิเสธการรักษา คุณภาพการดูแลก่อนส่งต่อ และผลลัพธ์ของการดูแลข้างต้นนั้น รพ.ควรมีการปรับปรุงวิธีการทำงานอะไรบ้าง (ให้นำแนวทางหมวก 6 สีมาประยุกต์ใช้ตามความเหมาะสม)
3. ให้ที่สมาชิกฝึกสรุปข้อมูลอย่างกระชับที่สุดในตารางข้างล่าง

บันทึกข้อมูลการส่งต่อ/ขอย้าย/ปฏิเสธการรักษา

ผู้ป่วย/การวินิจฉัย
เหตุผลที่ส่งต่อ/ขอย้าย
ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุง






สรุปประเด็นและวางแผนต่อ

          1. ระบบข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่เอื้ออำนวยต่อการทบทวนในลักษณะนี้หรือไม่  ควรมีการปรับปรุงอะไรบ้าง
          2. ให้สมาชิกร่วมกันอภิปรายว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถทบทวนกรณีที่มีการส่งต่อ/ขอย้าย/ปฏิเสธการรักษาได้ทุกราย

ปฏิบัติเป็นกิจกรรมปกติประจำ

1) การทบทวน

1.1) การส่งต่อผู้ป่วย

          แหล่งข้อมูลสำหรับการทบทวนมักจะอยู่ในสำเนาใบส่งต่อผู้ป่วย  แต่ข้อมูลในใบส่งต่ออาจจะไม่สมบูรณ์พอที่จะนำไปสู่การปรับปรุงระบบได้  ควรพิจารณาแนวทางปฏิบัติต่อไปนี้
ทันทีที่มีการส่งต่อผู้ป่วย หัวหน้าหอผู้ป่วยควรปรึกษากับแพทย์ผู้ดูแลเกี่ยวกับเหตุผลของการส่งต่อ (ควรวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นเพราะความไม่พึงพอใจของผู้รับบริการ ความไม่เชื่อมั่นในโรงพยาบาล โรงพยาบาลไม่มีศักยภาพที่จะดูแล หรือโรงพยาบาลมีศักยภาพในการ·       ดูแลแต่ไม่พร้อมด้วยสาเหตุอื่นๆ) และความเป็นไปได้ในการปรับปรุงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วย
·       ติดตามรับเสียงสะท้อนจากโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยต่อ เกี่ยวกับความเหมาะสมของการดูแลรักษาที่ได้ให้ไป รวมทั้งข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการดูแลผู้ป่วย

1.2) ผู้ป่วยที่ขอย้ายหรือปฏิเสธการรักษา

          ผู้ป่วยที่ขอย้ายหรือปฏิเสธการรักษาส่วนหนึ่งมาจากความไม่พึงพอใจหรือไม่มั่นใจ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น  อย่างไรก็ตามในระบบที่เป็นอยู่มักจะไม่มีการบันทึกข้อมูลดังกล่าว  ควรพิจารณาแนวทางปฏิบัติทำนองเดียวกับการส่งต่อผู้ป่วย

2) การบันทึก

จัดให้มีระบบการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้ป่วย การวินิจฉัยโรค สาเหตุที่ส่งต่อ/ขอย้าย/ปฏิเสธการรักษา  และพิจารณาข้อเสนอแนะในการปรับปรุงศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยและการสื่อสารกับผู้รับบริการ เพื่อให้ผู้รับบริการเกิดความเชื่อมั่นมากขึ้น 
หัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีหน้าที่รับผิดชอบในการบันทึกข้อมูลไว้เพื่อประโยชน์ในการทบทวน

ตัวอย่างแบบบันทึกข้อมูลการส่งต่อ/ขอย้าย/ปฏิเสธการรักษา

ผู้ป่วย/การวินิจฉัย
เหตุผลที่ส่งต่อ/ขอย้าย
ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุง









 3) การวิเคราะห์ข้อมูลและปรับปรุงระบบ

นำข้อมูลมาวิเคราะห์แนวโน้มเพื่อดำเนินการปรับปรุงระบบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยทีมนำทางคลินิกหรือทีมดูแลผู้ป่วยสหสาขาวิชาชีพ

ตัวอย่างแบบบันทึกสรุปแนวโน้มของปัญหาและการปรับปรุงระบบ

ลักษณะของปัญหา
ความถี่
การปรับปรุงระบบที่ดำเนินการไปแล้ว









ความคิดเห็น