12 กิจกรรม: กิจกรรมที่ 5 การค้นหาและป้องกันความเสี่ยง

กิจกรรมที่ 5 การค้นหาและป้องกันความเสี่ยง

วัตถุประสงค์

          เพื่อเป็นหลักประกันว่าผู้ป่วย ผู้รับบริการ และผู้ปฏิบัติงาน จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย มีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด

กรณีตัวอย่าง

          การค้นหาความเสี่ยงอาจทำได้โดยติดตามการไหลเวียนของกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง ดังตัวอย่างการติดตามการไหลเวียนของการสั่งและใช้ยาต่อไปนี้  และวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงอะไรบ้าง จะปรับปรุงเพื่อลดความเสี่ยงอย่างไร
          จากการติดตามการไหลเวียนของในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง พบว่า แพทย์มีหน้าที่ตรวจสอบการแพ้ยาจากข้อมูลใน OPD card  แพทย์บางท่านจะเขียนยาที่ผู้ป่วยแพ้ไว้ในคำสั่งการรักษาใบแรก  เมื่อแพทย์สั่งยาในใบคำสั่งการรักษาของแพทย์  พยาบาลจะคัดลอกคำสั่งแพทย์ลงในใบสั่งยาโดย รคส.ชื่อแพทย์ พร้อมทั้งลอกชื่อยาลงในการ์ดยา ใบ Kardex ใบบันทึกการให้ยา  ส่งใบสั่งยาไปที่ห้องยาโดยระบุจำนวนยาครั้งละ 3 วันตามข้อตกลง
          ที่ห้องยา พนักงานผู้ช่วยเภสัชกรกลุ่มที่หนึ่งจะเป็นผู้บันทึกข้อมูลจากใบสั่งยาลงคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์จะช่วยเตือนหากผู้ป่วยแพ้ยาและมีการบันทึกข้อมูลไว้ในคอมพิวเตอร์  พนักงานผู้ช่วยเภสัชกรกลุ่มที่สองจะเป็นผู้จัดยา และเภสัชกรจะเป็นผู้ตรวจสอบยาที่จัดเสร็จแล้วกับใบสั่งยาก่อนที่จะส่งยาให้แก่หอผู้ป่วย  ห้องยาจะจ่ายยาให้ผู้ป่วยครั้งละ 3 วันตามจำนวนที่หอผู้ป่วยคำนวณมาให้  ยาที่จัดให้ส่วนมากเป็นยาจากขวด มิใช่ยาที่ pack foil ยาส่วนหนึ่งได้จัดทำอยู่ในลักษณะ prepack เป็นซองเล็กๆ  ที่ซอง prepack ไม่มี labelชื่อยา  การ label อยู่ที่ภาชนะที่บรรจุซองยา prepack เคยมีความพยายามที่จะทำ drug profile เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับยาที่ผู้ป่วยใช้ทั้งหมด แต่ก็เลิกไปเนื่องจากกำลังคนไม่พอ
          เมื่อหอผู้ป่วยได้รับยาจากห้องยาแล้วจะตรวจสอบกับคำสั่งแพทย์และ Kardex นำยาเข้าในช่องเก็บยาผู้ป่วยประจำเตียง  ที่ซองยาเม็ดจะมีชื่อผู้ป่วยติดอยู่  แต่ที่ซองยาฉีดจะไม่มีชื่อของผู้ป่วย มีแต่เขียนหมายเลขเตียงกำกับไว้  จากการเปิดช่องเก็บยาพบว่ามีซองยาของผู้ป่วยที่กลับบ้านไปแล้วมาอยู่ในช่องของผู้ป่วยที่ยังนอนอยู่ใน รพ.
          พยาบาลจะจัดยาให้แก่ผู้ป่วยตามการ์ดยาโดยจัดเตรียมในช่วงที่ไม่มีงานยุ่งมาก  เมื่อจัดเสร็จจะเอาผ้าคลุมไว้  ในการเตรียมยาฉีดบางครั้งจะวางกระบอกฉีดยาที่เตรียมเสร็จแล้วไว้บนการ์ดยา  ถ้ามีการฉีดยาเพียง 1-2 ชนิด  จะใช้วิธีจำเอาว่ากระบอกไหนเป็นยาอะไร  พยาบาลอีกคนหนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นผู้แจกยาจะช่วยลงนามในใบบันทึกการให้ยาเมื่อมีเวลาว่างเพื่อให้งานเสร็จได้รวดเร็ว  บางครั้งมีการลงนามก่อนที่จะให้ยาแก่ผู้ป่วย
          ในการให้ยาแก่ผู้ป่วย ถ้าเป็นผู้ป่วยที่นอน รพ.มานานจนจำได้ พยาบาลจะไม่ถามอะไร แต่มอบยาให้ผู้ป่วยเลย  ถ้าเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งมานอน รพ. พยาบาลจะดูที่การ์ดยาและถามผู้ป่วยว่า ชื่อสมชายใช่ไหมค่ะ”  ผู้ป่วยที่ไม่ได้ผ่าตัดจะไม่มีการติดป้ายข้อมือ
          ผู้ป่วยไม่ได้รับการอธิบายว่ายาที่ให้ไปนั้นแต่ละตัวเป็นยาอะไร มีวัตถุประสงค์อะไร  มีบ้างครั้งที่ผู้ป่วยทักท้วงว่ายาที่ให้ในวันนี้แตกต่างจากวันที่แล้ว  แต่ส่วนมากจะไม่มีการทักท้วงอะไรเพราะแพทย์สั่งเปลี่ยนยาเป็นประจำเกือบทุกวันอยู่แล้ว
          มีข้อตกลงในการให้ยา stat dose ว่าจะต้องให้ยาใน 30 นาที  แต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถได้รับยาจากห้องยาได้รวดเร็ว บางหอผู้ป่วยแก้ปัญหาโดยการแอบเก็บยาที่เหลือไว้  นอกจากนั้นยังไม่ชัดเจนว่าแนวทางในการปรับ dose หรือระยะเวลาในการให้ยาหากแพทย์สั่ง stat คู่กับยาต่อเนื่อง ว่าต้องทำอย่างไร
          เมื่อถามถึงระบบการเฝ้าระวังความคลาดเคลื่อนทางยา ได้รับคำตอบว่ามีการจัดวางระบบไว้เรียบร้อยแล้ว  ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรม ตัวเลขข้อมูลความคลาดเคลื่อนมีน้อยมาก เพียง 1-2 รายต่อเดือน ส่วนมากเป็นเรื่องของการผิดเวลา หรือลืมให้เนื่องจากผู้ป่วยไม่อยู่ที่เตียง  ที่หอผู้ป่วยกุมารเวชกรรม มีความผิดพลาดเรื่องขนาดยาทำให้เด็กได้รับยา sedative เกินขนาด ไม่ทราบว่ายาประเภทอื่นๆ มีการให้ผิดขนาดมากน้อยเพียงใด  ข้อมูลนี้แต่ละหอผู้ป่วยยังเก็บเป็นเครื่องชี้วัดของตนเอง ไม่มีการวบรวมเป็นของ รพ. ไม่มีการเปรียบเทียบระหว่างหอผู้ป่วย เภสัชกรไม่ได้รับรู้ข้อมูลเหล่านี้
          บางครั้งแพทย์สั่งยา Aspent ให้ผู้ป่วยกิน  ผู้ป่วยบางรายที่ต้องให้อาหารทางสายยาง พยาบาลก็จะบดยาทุกอย่างรวม feed ให้แก่ผู้ป่วยทางสายยาง  โดยไม่ได้ตระหนักถึงผลจะเกิดขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Aspent ซึ่งเป็น ASA ซึ่งเคลือบผิวไว้เพื่อป้องกันการระคายต่อกระเพาะอาหาร
          จากการพูดคุยกับผู้ป่วยซึ่งเข้าๆ ออกๆ รพ.เป็นประจำ ได้รับข้อมูลว่าที่บ้านของผู้ป่วยมียาเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก  เนื่องจากมาตรวจที่ OPD ก็ได้ยาไปชุดหนึ่ง  พอเข้า รพ.ก็ได้ยาอีกชุดหนึ่ง เหมือนกันบ้าง ต่างกันบ้าง ทำให้หยุดกินยาที่ได้จาก OPD และมากินยาที่ได้ตอนออกจาก รพพอยาชุดนี้หมดค่อยไปกินยาที่ได้จาก OPD ต่อ

หัวหน้าพาทำคุณภาพ
วัตถุประสงค์: เพื่อให้สมาชิกสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงในหน่วยงาน กำหนดแนวทางป้องกันและจัดการเมื่อเกิดปัญหา
กลุ่ม: ผู้ที่มาจากหน่วยงานเดียวกัน
เวลา: 30 นาที
1. หัวหน้าอธิบายความหมายง่ายของความเสี่ยงว่า เปรียบได้กับลูกระเบิดที่รอวันระเบิด  ให้สมาชิกระดมสมองเพื่อค้นหาความเสี่ยงในหน่วยงานตามแนวทางต่อไปนี้
แนวทางพิจารณา
ความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้น
ติดตามการเข้ารับบริการของผู้ป่วยในขั้นตอนต่างๆ

ติดตามการไหลเวียนของการสั่งและใช้ยา

ติดตามการไหลเวียนของการส่งตรวจ lab

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เคยเกิดขึ้น

ปัญหาหรือความเสี่ยงที่เคยเกิดขึ้นที่ รพ.อื่น

สิทธิผู้ป่วยและการให้ข้อมูล

การบันทึกข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์

ความรู้และทักษะที่ไม่เพียงพอหรือการมอบหมายให้ทำหน้าที่เกินความสามารถ

ความเสี่ยงทางกายภาพที่สังเกตพบ

อื่นๆ

2. ให้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยกลุ่มละ 2-3 คน แต่ละกลุ่มเลือกความเสี่ยงมาเรื่องหนึ่ง  พิจารณาแนวทางป้องกันและจัดการเมื่อเกิดปัญหา  โดยพิจารณาองค์ประกอบต่อไปนี้ (ไม่จำเป็นต้องครบทุกองค์ประกอบ ให้พิจารณาตามความจำเป็นของปัญหา
องค์ประกอบ
ตัวอย่าง มารดาหลังคลอดทิ้งลูก
ทรัพยากรที่จำเป็น (คน อุปกรณ์ ข้อมูล)
ผู้เตรียมและตรวจสอบความพร้อม
เกณฑ์การเฝ้าระวังมารดาที่มีความเสี่ยง (เช่น อายุน้อย, มีปัญหาครอบครัว, คนอพยพ, ไม่ฝากครรภ์)
วิธีการปฏิบัติงานที่รัดกุม
เพื่อป้องกันปัญหา/ความเสียหาย
เฝ้าระวังมารดาที่เข้าเกณฑ์, จัดให้อยู่ใกล้ counter พยาบาล, สร้างสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิด
การควบคุมดูแลการปฏิบัติงาน 

การใช้ข้อมูลเพื่อติดตามกำกับ
จำนวนมารดาที่เข้าเกณฑ์, จำนวนมารดาที่พยายามทิ้งลูก
การแก้ไขสถานการณ์เมื่อเกิดปัญหา
?
การบันทึกที่จำเป็น
ข้อมูลปัญหาทางสังคมของมารดา และสภาพจิตใจ/การยอมรับขณะจำหน่าย
 3. ให้กลุ่มย่อยมารวมกัน นำเสนอและแลกเปลี่ยนผลการประชุมกลุ่มย่อย
 สรุปประเด็นและวางแผนต่อเนื่อง
          ให้สมาชิกร่วมกันอภิปรายว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถทบทวนโอกาสเกิดความเสี่ยงและความรัดกุมของมาตรการป้องกันให้ครอบคลุมความเสี่ยงทั้งหมดที่ระดมสมองไว้ได้

ปฏิบัติเป็นกิจกรรมปกติประจำ

          นำตัวอย่างความเสี่ยงในเอกสาร RM-I-002 มาวิเคราะห์เพื่อให้เห็นความเสี่ยงที่หลากหลายยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงทางคลินิก
          พิจารณาแนวทางป้องกันและจัดการเมื่อเกิดปัญหาโดยเน้นการวางระบบที่ไม่สร้างภาระกับคน ไม่ต้องพึ่งพาความจำของผู้ปฏิบัติ หาเครื่องมือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้การปฏิบัติที่ปลอดภัยเป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
          จัดทำเอกสารคู่มือปฏิบัติงานเท่าที่จำเป็น โดยจัดระบบเอกสารตามกระบวนการหลักที่เกี่ยวข้อง (ไม่ต้องแยกส่วนว่าเป็นคู่มือสำหรับเรื่องความเสี่ยง)

ความคิดเห็น